news

PM 2.5 วิกฤติหนัก ร่างกายอ่วม ถ้าฝุ่นไม่หาย ทำอย่างไรเราถึงจะ "รอด"

24-01-2021

ช่วงนี้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กลับมาวิกฤติหนักอีกครั้ง โดยบางพื้นที่พบค่าฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ ระบบผิวหนัง และ PM 2.5 ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง หากได้รับมลพิษจากฝุ่นเข้าสู่ร่างกายมากๆ อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย จนมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป

 

ก่อนหน้านี้ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ทยอยออกมาเตือนและให้ความรู้ประชาชน ในการหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเอง จากการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนบางอาชีพ ที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองสูง หรืออยู่กลางแจ้งเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างหรือวินมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มอาชีพทำความสะอาดถนนหรือกวาดถนน พ่อค้า แม่ค้า ริมทาง รวมถึงตำรวจจราจร การได้สัมผัสฝุ่นละอองเป็นเวลานาน จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

 

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับอันตรายมากประชาชนทั่วไป ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และ 4 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษ โดยหากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว คือ

1. กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด

2. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ

3. กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ

4. กลุ่มโรคตาอักเสบ

น้องไข่ตุ๋น นักศึกษาสาวปี 3 อายุ 21 ปี ได้เล่าประสบการณ์การแพ้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้ "กนก" ฟังว่า มีโรคประจำตัวคือภูมิแพ้อากาศตั้งแต่ตอนเกิด ปกติเวลาตื่นเช้ามาจะจามไม่กี่ครั้งแล้วก็หาย แต่ถ้าวันไหนค่าฝุ่นขึ้นเยอะ อาการจะหนักขึ้นมาก จามทั้งวัน คัดจมูก มีน้ำตาคลอตลอดเวลา ทำให้ปวดตามากๆ กระทบไปถึงการนอน เนื่องจากหายใจไม่สะดวก สุดท้ายก้ต้องกินยาแก้แพ้

แม้ว่าตื่นมาแล้วอาการจะดีขึ้น แต่ทุกครั้งจะรู้สึกเหมือนคนแฮงก์ เพราะยามีฤทธิ์ทำให้ง่วง เวลาตื่นขึ้นมา จะมึนงง บางครั้งก็จะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เหมือนจะเป็นไข้ ทำให้มีผลกระทบอย่างมากต่อการเรียน โดยเฉพาะถ้าวันไหนมีเรียนช่วงเช้า ก็จะรู้สึกเบลอ ไม่มีสมาธิ เรียนไม่รู้เรื่อง หนักสุดคือ ถ้าจามทั้งวัน จะเจ็บบริเวณท้อง เพราะเวลาจามร่างกายจะเกร็งบริเวณหน้าท้อง

 

 

ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า วิธีปฏิบัติให้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยการลดการก่อมลพิษและลดการเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ รวมถึงดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่น โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด และปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้านหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นควรป้องกันการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด

 

ทั้งนี้ หลายคนจึงจำเป็นต้องรู้จักป้องกันตนเองให้มากขึ้น โดยการสวมหน้ากากอนามัย หรือ N95 ที่เหมาะสม ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ล้างมือ ล้างหน้า ล้างตาให้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ต้องเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

เช่นเดียวกัน สำหรับผู้บริโภคหากเลือกซื้ออาหารจากแผงลอย ควรเลือกที่มีการปกปิดอาหาร เช่น ใส่ตู้กระจก หม้อที่มีฝาปิด เป็นต้น สำหรับผู้จำหน่ายอาหารประเภทปิ้งย่าง ควรใช้เตาไฟฟ้าหรือเตาไร้ควัน ซึ่งจะช่วยลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM 2.5 และขณะปฏิบัติงานควรยืนเหนือลม ที่สำคัญควรล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันอันตรายจากการสัมผัสฝุ่นละอองต่างๆ และเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จากการหยิบจับอาหารผ่านมือได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอาคาร การจัดการคุณภาพอากาศในอาคารอย่างเหมาะสม จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันตนเอง โดยเทคนิคการจัดการคุณภาพอากาศภายในบ้าน สำนักงาน แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • การควบคุมแหล่งกำเนิด เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ PM 2.5 ภายในบ้าน สำนักงาน การควบคุมแหล่งกำเนิดของ PM 2.5 ภายในบ้านจึงเป็นส่วนที่สำคัญอันดับแรกโดยปิดประตูหน้าต่าง และเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นในบ้าน
  • การฟอกอากาศ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการลด PM 2.5 ภายในบ้าน/สำนักงาน การใช้อุปกรณ์ฟอกอากาศ จึงเป็นการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคที่สามารถทำได้
  • การระบายอากาศร่วมกับการฟอกอากาศ โดยอาศัยการจ่ายอากาศที่ผ่านการกรองเข้ามาให้ห้อง เพื่อให้ภายในห้องมีแรงดันสูงกว่าบรรยากาศภายนอก (Positive Pressure) และผลักดันฝุ่นภายในห้องออกไปภายนอกอย่างต่อเนื่องจนปริมาณฝุ่นในห้องต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับพื้นที่ของคนที่อยู่อาศัยจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ขณะที่อีกหนึ่งตัวช่วยในการดักจับสารพิษในอากาศ และสามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ดี คือ การปลูกต้นไม้ เพราะส่วนต่างๆ ของต้นไม้โดยเฉพาะใบ สามารถช่วยดักฝุ่นได้ดี ต้นไม้หลากหลายชนิดสามารถดักจับฝุ่นได้จากลักษณะของใบ โดยต้นไม้ที่มีใบใหญ่ หนา โดยเฉพาะใบที่มีขนหรือมีพื้นผิวขรุขระ จะมีแนวโน้มในการดักจับฝุ่นได้ดี เนื่องจากมีพื้นที่ในการดักจับได้มาก และไม่ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกมาอีกครั้ง

แต่การดักจับฝุ่นบนใบนั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากฝุ่นบนใบ จะไปปิดกั้นการรับสารอาหารของต้นไม้ และการลดฝุ่นของต้นไม้ต่อต้นอาจจะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเครื่องฟอกอากาศ แต่การปลูกต้นไม้ ร่วมกับการวางผังบริเวณที่ดี เช่น การจัดสวนเพื่อเป็นพื้นที่กันชนระหว่างแหล่งกำเนิด จะช่วยส่งผลให้ลดการเดินทางของฝุ่นจากแหล่งกำเนิดดังกล่าว เข้ามาภายในบ้านและสำนักงานได้

สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีใครรู้ ว่าสถานการณ์ของฝุ่นพิษนี้มันจะดีขึ้นเมื่อไหร่ แต่ทุกคนสามารถช่วยกันได้โดยเริ่มจากตัวเราเอง ด้วยการลดการใช้รถยนต์ที่มีควันดำ, ลดการเผาขยะหรือเผาในที่โล่งแจ้ง รวมถึงการดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่น เพื่อลดการได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ.

 

ข้อมูล: กนก โฆษกสุขภาพ (ผู้เขียน), Supassara Traiyansuwan (กราฟฟิก)

logoTEST TECH

บริษัท เทสท์ เทค จำกัด (สำนักงานใหญ่)
30, 32 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 63 ถนนพระรามที่ 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทร: 02-893-4211-17, 087-928-5554
แฟกซ์: 02-893-4218
อีเมล: info@testtech.co.th
เราใช้คุกกี้ในเว็บไซต์ของเราเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเว็บไซต์ และเพื่อการให้บริการที่ดีที่สุดสําหรับคุณ โปรดอ่านนโยบายการใช้คุกกี้ เมื่อคุณเข้าใช้เว็บไซต์นี้เราถือว่าคุณยินยอมให้จัดเก็บและเข้าถึงคุกกี้บนอุปกรณ์ของคุณ
3000
4900
th