รัสเซียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน น้ำมันดีเซล 20,000 ตันรั่วไหลลงแหล่งน้ำในขั้วโลกเหนือ กระทบระบบนิเวศและสัตว์ขั้วโลกหายาก คาดสาเหตุเพราะชั้นดินน้ำแข็งใต้คลังน้ำมันละลายเพราะโลกร้อน อาจารย์วิทยาศาสตร์ทะเล จุฬาฯ ชี้ ทีมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเจองานหินแน่ เหตุอาร์กติกช่วงฤดูร้อนสั้น มีเวลาทำความสะอาดคราบน้ำมันเพียง 3 เดือน
เพียง 2 วันก่อนหน้าวันสิ่งแวดล้อมโลกในวันนี้ (5 มิถุนายน) สำนักข่าว The Guardian ประเทศอังกฤษ รายงานเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2563 ว่า Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากน้ำมันดีเซลกว่า 20,000 ตันรั่วไหลลงแม่น้ำ Ambarnaya ในไซบีเรีย ทางตอนเหนือของรัสเซีย ซึ่งไหลลงสู่มหาสมุทรอาร์กติก เกิดเป็นคราบน้ำมันสีแดงปกคลุมทั่วแม่น้ำและจุดไฟติดได้
น้ำมันรั่วไหลลงแม่น้ำ Ambarnaya // ขอบคุณภาพ: The Siberian Times
เหตุเกิดเพราะคลังเก็บน้ำมันในโรงไฟฟ้าใกล้เมือง Norilsk พังทลาย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม แต่บริษัท Norilsk Nickel ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รายงานเหตุการณ์ล่าช้า เป็นเหตุให้กว่ารัฐบาลรัสเซียจะทราบเหตุก็ล่วงเวลาไปแล้วถึง 2 วัน จากภาพความเสียหายจากน้ำมันรั่วที่มีผู้เผยแพร่ไปทั่วบนโซเชียลมีเดีย
ด้านสำนักข่าว BBC รายงานว่า ประธานาธิบดี Putin ได้แสดงความไม่พอใจอย่างมาก ที่กว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับรู้เหตุน้ำมันรั่วก็เป็นเวลาล่วงกว่า 2 วันหลังเกิดเหตุแล้ว จนน้ำมันได้รั่วไหลลงแม่น้ำ Ambarnaya กระทบพื้นที่ไปไกลกว่า 12 กิโลเมตร จากจุดเกิดเหตุ เปลี่ยนแม่น้ำเป็นสีแดงเข้ม และปนเปื้อนระบบนิเวศทุ่งทุนดราในเขตขั้วโลกกว่า 350 ตารางกิโลเมตร
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ประธานาธิบดี Putin ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเร่งส่งกำลังพลเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาดน้ำมันที่รั่วไหลโดยเร็วที่สุด
แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยสาเหตุที่คลังเก็บน้ำมันระเบิด สำนักข่าว The Siberian Times เผยว่า จากคำอธิบายของบริษัทผู้รับผิดชอบ สันนิฐานว่า เหตุน้ำมันรั่วครั้งร้ายแรงนี้อาจเกิดจากชั้นดิน Permafrost ทรุดตัว จากสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่าปกติ จนทำให้คลังน้ำมันชำรุดและเกิดการรั่วไหล
“ชั้นดิน Permafrost ที่รองรับคลังเก็บน้ำมันมากว่า 30 ปีโดยไม่มีปัญหาทรุดตัวกะทันหัน เป็นเหตุให้ถังเก็บน้ำมันดีเซลชำรุดและรั่วไหล” บริษัท Norilsk Nickel ผู้ประกอบการเหมืองแร่นิกเกิลและแพลเลเดียมรายใหญ่แถลง
ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว หรือ Permafrost คือลักษณะพื้นดินที่คงสภาพเยือกแข็งอยู่ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่พบได้ทั่วไปในแถบขั้วโลกและภูเขาสูง อย่างไรก็ดี อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัจจุบัน ชั้น Permafrost ทั่วโลกกำลังละลายอย่างรวดเร็ว จนทำให้พื้นดินในบริเวณดังกล่าวทรุดตัว สร้างความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อีกทั้งยังปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลที่กักเก็บไว้สู่ชั้นบรรยากาศ เร่งให้อุณหภูมิโลกยิ่งสูงขึ้น
ขณะที่ กรีนพีซ รัสเซีย กล่าวกับสำนักข่าว Forbes ว่า เหตุการณ์นี้นับเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อาร์กติก ร้ายแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากเรือ Exxon Veldes บริเวณชายฝั่งอลาสก้า เมื่อปี พ.ศ.2532 ซึ่งคร่าชีวิตสัตว์กว่าสองแสนตัว แม้ปริมาณน้ำมันรั่วไหลรอบนี้จะปริมาณน้อยกว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นกว่า 10 เท่า เพราะน้ำมันที่รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมรอบนี้เป็นน้ำมันดีเซลที่มีความเป็นพิษมากกว่าน้ำมันดิบ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่า
น้ำมันรั่วที่ไหลลงแม่น้ำ Ambarnaya เปลี่ยนลำน้ำให้กลายเป็นสีแดงทั้งสาย // ขอบคุณภาพ: The Siberian Times
ด้าน รศ.สุชนา ชวนิชย์ หัวหน้าภาคและอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิจัยไทยที่เคยเดินทางไปศึกษาผลกระทบสภาวะโลกร้อนที่ขั้วโลกเหนือ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์นี้ โดยระบุว่า งานทำความสะอาดน้ำมันรั่วไหลในเขตอาร์กติกทำได้ยาก และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศที่เปราะบางของขั้วโลกเหนือ
“เหตุน้ำมันรั่วไหลที่เกิดในเขตหนาวจะเสียหายมากกว่าเวลาเกิดในเขตร้อน เนื่องจากเขตหนาวจะมีฤดูร้อนสั้นแค่ 3 เดือน (มิถุนายน – สิงหาคม) เลยมีช่วงเวลาทำความสะอาดน้ำมันที่รั่วไหลสั้น บางครั้งแม้หน้าร้อนก็ยังมีน้ำแข็งอยู่ ดังนั้นจึงเป็นอุปสรรคให้เก็บกวาดได้ยาก” รศ.สุชนา กล่าว
เธอชี้ว่า วิธีทำความสะอาดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล คือต้องนำน้ำมันออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด สำหรับกรณีนี้ มีผู้เสนอให้ปล่อยให้น้ำมันดีเซลระเหยเองหรือจุดไฟเผาเพื่อผลาญเชื้อเพลิงทั้งหมด ทว่ารัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมรัสเซียแย้งความคิดดังกล่าวว่าจะเกิดผลกระทบระบบนิเวศที่ยากจะคาดคิดและเสนอให้เร่งศึกษาหาวิธีอื่น
“นอกจากผลกระทบต่อพื้นที่แล้ว เหตุน้ำมันรั่วยังกระทบกับสัตว์ขั้วโลกที่เป็นสัตว์หายาก เช่น นกและวาฬ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือนนี้ ซึ่งเป็นหน้าร้อน สัตว์จะอพยพจากบริเวณเหนือลงมาทางตอนกลางและล่างที่อุ่นกว่าเช่นบริเวณที่เกิดเหตุ แม้ว่าโอกาสที่สัตว์สปีชีส์หนึ่งจะสูญพันธุ์ไปเลยจากผลกระทบน้ำมันรั่วครั้งนี้จะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสิ่งมีชีวิตอาจกระจายอยู่บริเวณอื่นด้วย” เธอกล่าว
“ถ้าสัตว์ยังไม่ตาย เราสามารถช่วยอนุบาลพวกมัน เช่น นกปีกมันเต็มไปด้วยน้ำมัน ก็จะทำความสะอาด แต่ถ้าสัตว์ตายและสูญหายไปจากบริเวณนั้นแล้วจะนำมาปล่อยคืนพื้นที่ได้ยาก เพราะสัตว์หลายอย่างที่นั้นเรายังเพาะพันธุ์ไม่ได้และต้องคำนึงว่าเป็นสายพันธุ์ในพื้นที่นั้นไหม”
รศ.สุชนา ย้ำว่า สำหรับคนไทยเราอาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เหตุน้ำมันรั่วไหลมีผลกระทบกับธรรมชาติโดยรวมของโลก และพฤติกรรมการใช้พลังงานของเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมครั้งนี้
“คำถามสำคัญคือทำไมต้องขุดเจาะน้ำมันที่อาร์กติกแต่แรก ถ้าคนไม่ใช้มาก เราคงไม่ต้องไปขุดเยอะ อาร์กติกมีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น ธุรกิจขุดเจาะน้ำมันเลยยังทำได้ค่อนข้างยาก แต่นับได้ว่าเป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันที่ถูกจับตา เพราะมีปริมาณมาก” เธอกล่าว
ที่มา: Green New