news

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ !

19-07-2020

"ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ภัยเงียบ ที่สังคมมองข้าม

       ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ electronic waste (e-waste) คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายที่เสียหรือไม่มีคนต้องการ ขยะเหล่านี้จะย่อยสลายเองไม่ได้ และเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในบทความนี้ ทางโครงการจะรวมถึงถ่าน แบตเตอรี่ และตลับหมึกพิมพ์ด้วยนะคะ เพราะขยะเหล่านี้ก็เป็นขยะอันตราย ที่มาพร้อมๆ กับขยะอิเล็กทรอนิกส์เลย

FUN FACTS ... รู้หรือไม่??

      * ปริมาณ E-Waste ทั่วโลกได้พุ่งทะยานสูงขึ้นถึง 20-50 ล้านตัน ต่อปี ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ ถ้าเอาเจ้า E-Waste ยัดเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ในรถไฟ จะมีความยาวประมาณ 1 รอบโลก

      * ณ ปัจจุบัน E-Waste คิดเป็น 5% ของขยะมูลฝอย และมีปริมาณเกือบเท่ากับ พวกบรรจุภัณฑ์พลาสติกแล้ว แต่ความอันตรายจาก E-Waste มากกว่า พลาสติก หลายเท่าทวีคูณ และที่สำคัญ Asia มีส่วนในการทิ้ง E-Waste ถึง 12 ล้านตัน / ปี

      * E-Waste ตัวฉกาจ ก็แน่นอนครับ เป็นพวกที่อุปกรณ์ที่มีการ Upgrade ตลอดเวลา และมักจะมายั่วน้ำลายให้เราเปลี่ยนกันบ่อยๆ คือ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์…ส่วนตัวอื่นๆ เช่น ทีวี เครื่องเล่นต่างๆ เครื่องถ่ายเอกสารพวกนี้ยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่าตกใจเท่าไหร่

      * ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ค่าเฉลี่ยของอายุการใช้งานคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนไปจาก 6 ปีในช่วง ปี 1997 เหลือเพียง 2 ปี ตั้งแต่ปี 2005 ส่วนโทรศัพท์มือถือ มีค่าเฉลี่ยการใช้งาน น้อยกว่า 2 ปี และมีแนวโน้มที่จะน้อยลงเรื่อยๆ

      * และผู้บริโภค รายใหญ่ในวันนี้ คือ ประเทศจีนประมาณ 178 ล้านผู้ใช้งานใหม่ในปี 2010 และอินเดียประมาณ 80 ล้านคน

 

 

      ในขณะที่ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนกว่า 380,000 ตัน/ปี แต่ขยะเหล่านี้กลับถูกส่งสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธีเพียงร้อยละ 7.1 ส่วนที่เหลือนอกจากจะไปกองรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ รอการฝังกลบแล้ว ส่วนหนึ่งก็จะกระจายไปสู่พ่อค้ารับซื้อของเก่า ที่จะรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่านำส่งแหล่งคัดแยกขยะที่ไม่ได้มาตรฐานแต่กระจายตัวไปทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง

       ทั้งสารปรอทในหลอดไฟและจอภาพสมัยใหม่ ตะกั่วและดีบุกในลวดบัดกรี แคทเมียมในแผงวงจรพิมพ์ พวกเขาเผาสายไฟเพื่อที่จะแยกทองแดงและโลหะ โดยไม่ได้คำนึงถึงสารพิษที่อาจทำลายปอดและระบบประสาทในระยะยาว ทั้งหมดถูกคัดแยกด้วยสองมือมนุษย์ซึ่งมีอุปกรณ์ป้องกันเป็นเพียงถุงมือและหน้ากากอนามัย  และหากรั่วไหลลงพื้นดินและแหล่งน้ำก็พร้อมจะสะสมและส่งต่อไปในห่วงโซ่อาหาร สาร CFCs จากการผ่าตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศรุ่นเก่า ที่จะระเหยขึ้นไปทำลายชั้นโอโซนที่ป้องกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่แผ่รังสีให้เราอยู่ในทุกวันนี้

 

 

ขยะร้ายยังมีค่า ถ้ารู้จักแยกทิ้ง

       เพราะซากเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ บางชิ้นส่วนสามารถทำการถอดแยกเพื่อนำไปสกัดแยกโลหะมีค่า เป็นการเพิ่มรายได้ เช่น มีรายงานว่า ญี่ปุ่นสามารถสกัดแยกทองคำ 1 กิโลกรัมได้จากโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 แสนเครื่อง ชิ้นส่วนตัวต้านทานในวงจรคอมพิวเตอร์ สามารถสกัดแยกทองคำและพาลาเดียมได้อย่างละประมาณ 50-100 กรัมต่อซากเครื่องใช้ไฟฟ้าหนัก 1 ตัน รวมทั้งยังได้ทองแดงอีก 200 กิโลกรัม นอกจากนี้ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีส่วนประกอบของโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ พาลาเดียม และทองแดง แม้ประเทศไทยเอง มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่สามารถรีไซเคิลและสกัดแยกโลหะมีค่าเหล่านี้ออกจากซากอุปกรณ์เหล่านี้ได้ก็ตาม แต่การเตรียมพร้อมด้วยการแยกขยะอันตายเหล่านี้ออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป ก็เป็นการเตรียมตัวอย่างแรกที่ควรทำ เพื่อรอเทคโนโลยีในการจัดการขยะให้เหมาะสมต่อไป

 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์กับการรับผิดชอบของภาครัฐและเอกชน

       ในการจัดการกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้ประสิทธิภาพจะต้องได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ผลิตและและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้าอยู่แล้ว ย่อมรู้มาตรการและขั้นตอนการกำจัดขยะเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่หากเอกชนไม่มีสำนึกในการรับผิดชอบต่อสาธารณะ ย่อมเลือกที่จะละเลย เพราะการจะกำจัดขยะอันตราย เป็นการเพิ่มขั้นตอน ซึ่งจะไปเพิ่มต้นทุนการผลิตไม่มากก็น้อย

      ในขณะที่รัฐบาลก็เป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมดูแลปัญหาขยะอันตรายเหล่านี้ได้ด้วยกฎหมาย หลายประเทศต่างก็กำหนดให้ผู้ขายและผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีส่วนรับผิดชอบในการรีไซเคิลขยะจากผลิตภัณฑ์ของตน บ้างก็มีการเก็บภาษีรีไซเคิลกับผู้ซื้อสินค้า เช่นในสหรัฐอเมริกา ราคาสินค้าที่แสดงในร้านค้าจะไม่รวมภาษี และหากเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะมีค่า Recycle Fee หรือค่าใช้จ่ายในการจัดการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะถือว่าผู้บริโภคได้สร้างขยะที่จัดการยากเลยนับตั้งแต่พวกเขาซื้อมา หรือในญี่ปุ่น ประเทศที่มีระเบียบในเรื่องของการจัดการขยะมาก ผู้คนในประเทศจะต้องเสียค่ารีไซเคิลหากต้องการจะทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

 

ประเทศไทย กับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบไทยๆ 

      ในขณะที่ต่างชาติกำลังหาทางกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเคร่งครัด ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่ห้ามประชาชนทิ้งขยะอันตรายเหล่านี้ในที่สาธารณะเช่นกัน แต่แน่นอนว่ากฎหมายหลวมๆ ของไทยนั้นไม่ศักสิทธิ์พอ ทำให้เราสามารถพบเห็นหลอดฟลูออเรสเซนต์อยู่ในถังขยะหน้าหมู่บ้าน หรือถ่านไฟฉายที่มีสารเคมีบางอย่างไหลเยิ้มอยู่ก้นก้นถังขยะในหลายๆ ครัวเรือน 

       ทิ้งเองไม่พอ ยังนำเข้าอีก ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศพยายามส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองสู่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานที่ดีพอ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลที่ถูกกว่า ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เปิดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากนานาชาติตามสนธิสัญญาบาเซิล ที่ว่าด้วยการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมและมีการจัดการอย่างถูกต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่นำเข้าและมีวิธีการจัดการอย่างไม่ถูกกฎหมาย เพียงสกัดเอาแร่ที่มีมูลค่าตามต้องการแล้วกำจัดส่วนที่เหลือด้วยการฝังกลบ ส่งผลให้สารพิษกระจายสู่สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดมลพิษในพื้นที่ใกล้เคียง

 

กรมศุลฯเผยขยะอิเล็กทรอกนิกส์ทะลักไทยเพิ่มหลังจีนประกาศห้ามนำเข้า

หลังจากที่จีนออกกฎหมายห้ามนำขยะมีพิษเข้าประเทศ ซึ่งมีผลในปี 2561 ทำให้ประเทศต้นทางเปลี่ยนมาส่งให้ประเทศที่มีใบอนุญาตนำเข้าแทน ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น แต่จำนวนโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยที่ได้มาตรฐานนั้นมีเพียง 20 กว่าแห่งทั่วประเทศ และส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในภาคกลาง แต่เนื่องด้วยมูลค่าที่ได้จากการแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าขยะอันตรายเหล่านี้เป็นจำนวนมาก บ้างก็ปะปนมากับขยะพลาสติกที่บรรทุกมาเป็นคอนเทนเนอร์ ซึ่งการสุ่มตรวจของเจ้าหน้าที่อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันขยะเหล่านี้ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย

 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ลดได้ ถ้าเราช่วยกัน

คิดก่อนซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่ออายุการใช้งานที่คงทน

ใช้ให้คุ้ม ดูแลรักษาให้ดีตามคำแนะนำ

ซ่อมแซมเมื่อเสื่อมสภาพ แน่นอนว่าอุปกรณ์หลายๆ อย่างราคาไม่แพง และการทิ้งแล้วซื้อใหม่ก็ง่ายกว่าซ่อมแซมมาก แต่นั่นเป็นการผลักภาระขยะมลพิษให้กับโลกเรา ทางที่ดีควรศึกษาปัญหาแล้วหาวิธีซ่อมแซมจะดีกว่า เดี๋ยวนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ วิธีซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ก็หาได้ง่ายๆ ในยูทูป เป็นการลดทั้งภาระค่าใช้จ่ายและภาระของโลกเราด้วย

เลิกวิ่งตามเทคโนโลยี เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกรุ่นใหม่บ่อยมาก เมื่อซื้อใหม่ ของเก่าไร้คุณค่า และกลายเป็นขยะทันที

ส่งต่อประโยชน์ บริจาคอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าสภาพดีที่เราไม่ต้องการแล้วให้คนที่ต้องการ 

ไม่ทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป เพราะขยะอันตรายเหล่านี้หากรั่วไหลลงสู่พื้นดินและแหล่งน้ำจะกลายเป็นสารพิษที่น่ากลัวเลย!! นอกจากนี้ยังเป็นอันตรายต่อคนที่เก็บไปจัดการต่อโดยไม่มีความรู้เพียงพออีกด้วยนะคะ


สุดท้าย นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งในจุดที่กำหนด โดยในส่วนของภาครัฐนั้นสามารถติดต่อทิ้งขยะในสำนักงานเขตต่างๆได้ ส่วนภาคเอกชน มีองค์กรที่ร่วมตั้งจุดทิ้งขยะอันตรายตามห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง อาทิ BigC(บางสาขา), The Mall(บางสาขา), HomePro(บางสาขา), 7-Eleven (บางสาขา) Emporium, Emqurtier เป็นต้น

 

ทำอะไรไม่ได้ ก็เริ่มกันที่เรา

แน่นอนว่าหากเราหวังให้ภาครัฐภาคเอกชนเคลื่อนไหว อาจต้องใช้เวลา แต่หากเราทุกคนตระหนักถึงความอันตรายของขยะอิเล็กทรอนิกแล้ว MWT เชื่อว่าต่อจากนี้ เราจะจัดการขยะได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน คิดก่อนซื้อ ดูแลระหว่างใช้ และทิ้งให้ถูกที่นะคะ

"ทุกอย่างเริ่มต้นที่เรา"

 

ที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ

https://www.facebook.com/deqpth/videos/284146839498006/?t=3

logoTEST TECH

บริษัท เทสท์ เทค จำกัด (สำนักงานใหญ่)
30, 32 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 63 ถนนพระรามที่ 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทร: 02-893-4211-17, 087-928-5554
แฟกซ์: 02-893-4218
อีเมล: info@testtech.co.th
เราใช้คุกกี้ในเว็บไซต์ของเราเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเว็บไซต์ และเพื่อการให้บริการที่ดีที่สุดสําหรับคุณ โปรดอ่านนโยบายการใช้คุกกี้ เมื่อคุณเข้าใช้เว็บไซต์นี้เราถือว่าคุณยินยอมให้จัดเก็บและเข้าถึงคุกกี้บนอุปกรณ์ของคุณ
3000
4900
th