มิวเซียมสยาม หวั่นหลัง COVID-19 ขยะเพิ่มชวนคัดบริจาคให้ถูกวิธี

มิวเซียมสยาม เปิดโครงการ “ขยะบทที่ 2” ให้ประชาชนได้เรียนรู้การจัดการขยะอย่างถูกวิธีในช่วงหยุดอยู่บ้าน เพื่อลดจำนวนขยะในช่วง COVID-19 และสามารถนำไปบริจาคเพื่อต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ พร้อมเปิดพื้นที่รับบริจาคขยะตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ วันนี้ (23 เม.ย.2563) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ได้ออกมาเคลื่อนไหวแล้วว่า หลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย จะเกิดวิกฤตการณ์ของขยะ โดยเฉพาะขยะทางการแพทย์ที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะขวดแอลฮอลล์ ขวดเจลแอลฮอลล์ ขวดน้ำเกลือ ถุงใส่หน้ากากอนามัย ฯลฯ  มิวเซียมสยาม ได้จับมือองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Earth Day) และภาคีเครือข่าย 11 แห่ง เปิดตัวโครงการ “ขยะบทที่ 2” โดยมีเป้าหมายคือสร้างความตระหนักให้คนไทยเรียนรู้การจัดการขยะอย่างถูกวิธี และลดจำนวนขยะที่มีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day)  พร้อมเชิญชวนทุกคนที่กักตัวอยู่บ้านในช่วงนี้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ “เริ่มต้นคัดแยกขยะ และเตรียมนำมาบริจาคได้ที่มิวเซียมสยาม ซึ่งเป็นตัวกลางในการนำไปส่งต่อให้กับภาคีเครือข่ายเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อไป” นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า “โครงการขยะบทที่ 2 เป็นการร่วมมือครั้งสำคัญกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Earth Day) องค์กรที่ดำเนินการด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ ซึ่งที่มาของคำว่า ขยะบทที่ 2 มาจากเป้าหมายที่มองเห็นร่วมกันว่า ขยะที่ทุกคนทิ้ง แท้จริงแล้วสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ต้องรู้วิธีการจัดการขยะที่ถูกต้อง คาดคนไทยบริจาคขยะใช้ครั้งเดียวเพิ่มช่วงอยู่บ้าน นายราเมศ  ระบุว่า มิวเซียมสยามในฐานะแหล่งการเรียนรู้สาธารณะ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดวิกฤตการณ์ขยะที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ โดยเปิดรับบริจาคขวดพลาสติกที่ใช้แล้วเพื่อไปส่งต่อให้กับภาคีเครือข่าย อาทิ วัดจากแดง ในการแปรรูปขวดพลาสติกเป็นจีวรพระเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมิวเซียมสยามสร้างพื้นที่การเรียนรู้และถังขยะความรู้เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้วิธีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี “เราเชื่อว่า หากมีการจัดการขยะที่ถูกต้อง วิกฤตการณ์ขยะที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ก็จะลดน้อยลง สิ่งแวดล้อมก็จะได้รับผลกระทบน้อยลงเช่นกัน” สำหรับโครงการขยะบทที่ 2 ทางมิวเซียมสยาม จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ โดยให้ความรู้เรื่องของขยะ ในหลากหลายรูปแบบ คือการจัดตั้งถังขยะความรู้เพื่อให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะและจัดการขยะแต่ละประเภท การรณรงค์ให้ทุกคนลดการใช้วัสดุ บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียว รวมถึงเชิญชวนทุกคนร่วมบริจาคขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อภายใต้แนวคิด You bring I give   Earth Day ขอคนไทยร่วมจัดการขยะอย่างถูกวิธี ด้านแคทลีน โรเจอร์ส ประธานเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Earth Day ระบุว่า ในปีนี้ Earth Day ครบรอบ 50 ปี การร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่างมิวเซียมสยามถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะที่ผ่านมามิวเซียมสยามก็พยายามหากิจกรรมที่จะส่งเสริมและกระตุ้นให้คนไทยหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง  สำหรับโครงการขยะบทที่ 2 ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ Earth Day ที่มุ่งหวังให้คนไทยเห็นความสำคัญของขยะและเรียนรู้วิธีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะ ที่สำคัญโครงการนี้จะประกาศดำเนินการพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 22 เม.ย.2563 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี Earth Day และวันคุ้มครองโลก อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ที่หลายคนอยู่บ้าน ขอให้ทุกคนร่วมกัน คัดแยกขยะประเภทขวดพลาสติก ฝาขวด สลิปใบเสร็จ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดวิกฤตการณ์ขยะและทำให้ขยะที่ไร้ค่า กลับมามีประโยชน์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยสามารถนำมาบริจาคได้ที่มิวเซียมสยามตั้งวันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป ที่มา: Thai PBS NEWS

คพ. แจงการฟื้นฟูคลิตี้ ไม่ละเลยความปลอดภัยสิ่งแวดล้อมและประชาชน ฉบับที่ 60 วันที่ 29 เมษายน 2563

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวว่าชาวบ้านชุมชนคลิตี้ยื่นคำร้องศาลปกครอง ให้สั่งระงับการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และสั่งให้ คพ.และผู้ที่เกี่ยวข้องปรับปรุงการดำเนินการให้เหมาะสม หลังพบว่าผู้รับเหมาโครงการละเลยมาตรการความปลอดภัยสิ่งแวดล้อม และประกอบกับมาตรการจำกัดการเดินทางของภาครัฐในช่วง COVID-19 ระบาด ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนอาหารจนกระทั่งต้องใช้น้ำและกินปลาจากลำห้วยตามที่มีการอ้าง ข่าวดังกล่าวที่กล่าวอ้างว่าชาวบ้านชุมชนคลิตี้ยื่นคำร้องศาลปกครอง นั้น ได้รับการยืนยันมาจากชาวบ้านคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง ว่าเกิดการดำเนินการจากบุคคลภายนอกพื้นที่ ที่มีเจตนาเผยแพร่นำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ ทั้งในรูปแบบบทความผ่านเวบไซต์และสื่อโซเชียลต่างๆ เพื่อให้ชุมชนเกิดความขัดแย้งและการดำเนินการฟื้นฟูต้องหยุดชะงัก ขณะนี้ทางชาวบ้านทั้งคลิตี้บนและคลิตี้ล่างได้ยื่นหนังสือต่อศาลปกครองกลาง และสำเนาให้ คพ. เพื่อให้รับฟังข้อเท็จจริง ให้ความเป็นธรรม ที่จะให้การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ดำเนินการต่อไปตามมติของชาวบ้าน นายประลอง กล่าวว่า การขุดลอกตะกอนด้วยการดูดตะกอนในลำห้วยเป็นวิธีการมาตรฐานที่มีการดำเนินการมาแล้วในพื้นที่ปนเปื้อนหลายแห่งทั่วโลก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่ก็ยังได้มีมติเลือกแนวทางในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยการดูดตะกอน (hydraulic dredging) เนื่องจากเห็นว่าการเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดสูงสุดและมีความเสี่ยงในการที่ลำห้วยจะกลับมาปนเปื้อนใหม่น้อยที่สุด แต่เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่อาจเกิดขึ้นในบางจุด คพ.จึงได้ให้บริษัทผู้รับจ้าง ดำเนินการมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย 1) การจัดหาเครื่องมือวัดการเอียงตัวแบบดิจิตอล (digital Inclinometer) เพื่อติดตามตรวจสอบอัตราการพังทลายของดินริมตลิ่ง 2) การปรับพื้นที่ในบริเวณที่มีการวางพักถุง geotextile ให้มีระดับและสภาพใกล้เคียงกับสภาพเดิม 3) การขนส่งตะกอนปนเปื้อน จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเคร่งครัด 4) การตรวจนับและจัดทำบัญชีระบุปริมาณตะกอน 5) การใช้เส้นทางการขนส่งตามที่ระบุไว้ในแบบรูปรายการละเอียดเท่านั้น 6) การติดตั้งม่านดักตะกอนเพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการฟุ้งกระจายจากการดูดตะกอน ม่านดักตะกอน 7) กำหนดช่วงเวลาการขุดลอกตะกอนด้วยการดูดเฉพาะในช่วงแล้งเท่านั้น 8) ผู้รับจ้างต้องจัดหาน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคให้ประชาชน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่ประชาชนได้เลี้ยงไว้ระหว่างที่มีการดูดตะกอน และ 9) กำหนดจุดตรวจสอบความขุ่นของน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยหากพบว่าความขุ่นของน้ำในลำห้วยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 10 ให้หยุดการขุดลอกชั่วคราวจนกว่าความขุ่นของน้ำจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติ   นายประลอง กล่าวต่อว่า เนื่องจากการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในลักษณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการมาก่อนในประเทศไทยและสภาพพื้นที่ดำเนินการของกรณีห้วยคลิตี้นั้นเป็นลำห้วยบนภูเขา ที่มีตลิ่งสูงชันและอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ไม่สามารถใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ไม่มีไฟฟ้า และไม่มีสัญญาณสื่อสาร คพ. กับที่ปรึกษาควบคุมงาน และผู้รับจ้างได้มีการประยุกต์ข้อมูลจากต่างประเทศและปรับปรุงเทคนิคในการดูดตะกอนและมาตรการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการปรับปรุงรูปแบบของอุปกรณ์ดูดตะกอน การติดตั้งม่านดักตะกอน พร้อมทั้งปรับปรุงวิธีการเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ซึมออกจากถุงบรรจุตะกอนไหลกลับลงสู่ลำห้วยโดยตรงด้วยการจัดทำระบบรวบรวมและพักน้ำที่ซึมออกจากถุงบรรจุตะกอนก่อนปล่อยคืนลงสู่ลำห้วยด้วยบ่อตกตะกอน ได้มีการตรวจสอบความขุ่นของลำห้วยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน ในส่วนที่มีน้ำและตะกอนที่ไหลกลับลงสู่ลำห้วยจะเกิดขึ้นเฉพาะในกระบวนการดูดตะกอนออกจากลำห้วย น้ำที่ไหลคืนลงสู่ลำห้วยดังกล่าวไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกับมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมตามที่มีการกล่าวอ้างได้ เพราะว่าน้ำและตะกอนที่ไหลลงห้วยดังกล่าวจะถูกดูดขึ้นกลับมาอีกครั้งจากกระบวนการดูดตะกอน ซึ่งผู้รับจ้างก็ได้วางแผนการดำเนินการจนกว่าจะดูดตะกอนในลำห้วยให้หมดไปจากท้องน้ำ เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาจมีการใช้น้ำในลำห้วยในช่วงเวลาการฟื้นฟู คพ.ได้ประสานกับกรมทรัพยากรน้ำและผู้รับจ้างในการจัดทำระบบประปาภูเขาและระบบกระจายน้ำ โดยครอบคลุมชาวบ้านทุกหลัง อีกทั้งผู้รับจ้างยังได้มีการแจกจ่ายน้ำดื่มให้กับชาวบ้านโดยมีการตั้งจุดรับน้ำดื่มซึ่งชาวบ้านสามารถมารับได้ทุกวัน ในส่วนของมาตรการจำกัดการเดินทางของภาครัฐในช่วง COVID-19 ระบาด ยังอนุญาตให้มีการขนส่งอาหารและน้ำดื่มจากพื้นที่อำเภอทองผาภูมิเข้าไปสู่พื้นที่คลิตี้ได้ ภาวะการณ์ดังกล่าวจึงไม่ได้ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนอาหารจนกระทั่งต้องใช้น้ำและกินปลาจากลำห้วยตามที่มีการอ้าง อีกทั้งจากการสำรวจของ คพ. พืชผักที่ชาวบ้านปลูกเพื่อใช้ในการบริโภคในบริเวณบ้านของชาวบ้านเองนั้นไม่เคยมีการพบการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานอาหารของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นที่มีการกล่าวอ้างว่าชาวบ้านถูกกักตัวจนต้องกินพืชผักในพื้นที่จนตะกั่วในเลือดเกินค่ามาตรฐานนั้นจึงไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม คพ. ขอน้อมรับความคิดเห็นของนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการควบคุมการดำเนินงานของผู้รับจ้างให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยจะนำข้อคิดเห็นไปปรับปรุงการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วของ คพ. ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป และขอยืนยันว่าจะผลักดันให้การฟื้นฟูพื้นที่แล้วเสร็จตามความคาดหวังของชุมชนโดยเร็ว นายประลอง กล่าว           ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

6 พฤษภาคม 2563 ประชากรโลก 3 พันล้านคนอาจต้องพลัดถิ่นฐาน อพยพหนีอากาศร้อนเหมือนทะเลทรายในอีกครึ่งศตวรรษข้างหน้า

หากมนุษย์ยังไม่อาจตัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่บนผืนแผ่นดินเกือบ 20% ของโลกภายในปี 2070 ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรราว 3 พันล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของมนุษย์ทั้งหมด ต้องตกอยู่ในสภาพอากาศร้อนระอุเหมือนทะเลทรายซาฮารา คำพยากรณ์ข้างต้นมาจากผลการศึกษาด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ซึ่งจัดทำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากจีน สหรัฐฯ รวมทั้งหลายชาติในยุโรป และเพิ่งลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ PNAS เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการนำข้อมูลประวัติศาสตร์และข้อมูลสภาพอากาศย้อนหลังไป 6,000 ปีมาวิเคราะห์ จนพบว่ามนุษยชาติสามารถดำรงชีวิตและประสบความสำเร็จในการสร้างอารยธรรมได้ดีในสิ่งแวดล้อมหลากหลายรูปแบบ แต่ในปัจจัยเรื่องอุณหภูมิแล้ว ดูเหมือนว่าสภาพอากาศที่มนุษย์จะดำรงชีวิตได้ดีที่สุดนั้น จะต้องมีอุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งปีอยู่ในช่วง 11-15 องศาเซลเซียส หรือที่เรียกว่า “ภูมิอากาศจำเพาะของมนุษย์” (human climate niche) ผลคำนวณที่นำเอาข้อจำกัดทางอุณหภูมิดังกล่าวมาพิจารณาด้วยระบุว่า ภาวะโลกร้อนที่ยังคงดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการยับยั้ง หรือที่เรียกว่าสภาพการณ์ RCP8.5 จะทำให้หลายภูมิภาคของโลกสูญเสียภูมิอากาศจำเพาะของมนุษย์ไป ภายในช่วงครึ่งศตวรรษหรือ 50 ปีข้างหน้า เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดสภาพอากาศแบบเดียวกับทะเลทรายซาฮารา ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ไม่กี่แห่งของโลกที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งปีสูงกว่า 29 องศาเซลเซียส สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งอย่างสุดขั้ว จะทำให้เกิดทุพภิกขภัยและมีผู้เสียชีวิตเพราะคลื่นความร้อนจำนวนมาก จนในที่สุดมนุษย์อาจต้องอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ เพื่อไปยังภูมิภาคที่อุณหภูมิยังคงเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตมากกว่า ซึ่งเหมือนกับที่งานวิจัยชิ้นหนึ่งในวารสาร Environmental Research Letters ได้ทำนายไว้เมื่อปีที่แล้วว่า มนุษย์อาจต้องอพยพไปตั้งถิ่นฐานกันที่ไซบีเรีย ภายในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ แผนที่คาดการณ์สภาพอากาศในอนาคตที่ทีมวิจัยสร้างขึ้นชี้ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของบราซิลจะไม่สามารถใช้อยู่อาศัยได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับบางส่วนของตะวันออกกลางและอินเดียซึ่งจะถูกปกคลุมด้วยอากาศร้อนสุดขั้วเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาทางตอนใต้ บางส่วนของยุโรปในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน บางส่วนของออสเตรเลียก็จะได้รับผลกระทบรุนแรงเช่นกัน แผนที่คาดการณ์สภาพอากาศดังกล่าวชี้ว่า บรรดาประเทศในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตรซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้มากที่สุด ส่วนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น คาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นมาก จนอาจจะเกิดการพลัดถิ่นครั้งใหญ่ของประชากรจำนวนมหาศาล   ที่มา : https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_4075348

ชุมชนคลิตี้ร้องศาลปกครองให้ตรวจสอบและหยุดการดูดตะกอนตะกั่วในลำห้วยชั่วคราวในช่วง COVID-19 ระบาด

หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษได้เริ่มดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วตามคำพิพากษาตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กำลังดำเนินงานขั้นตอนการดูดตะกอนตะกั่วท้องน้ำใส่ถุงเพื่อนำไปฝังกลบในหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย หลุมฝังกลบถุงตะกอนตะกั่วแบบปลอดภัย (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส)   หลุมฝังกลบถุงตะกอนตะกั่วแบบปลอดภัย (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส)   ในระหว่างที่มีการดูดตะกอน ชุมชนและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกรรมการไตรภาคีมีความห่วงกังวลว่าอาจจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ตรวจวัดและติดตามเฝ้าระวังการฟุ้งกระจายของตะกอน โดยพบว่ามีการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วท้องน้ำจนเกิดความขุ่นเป็นระยะทางไกลถึง 4 กิโลเมตร และยังตรวจพบว่าน้ำที่รีดออกมาจากถุงเก็บตะกอนและไหลกลับลงไปในลำห้วยโดยตรงมีค่าตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานถึงเกือบ 100 เท่า ซึ่งจะมีน้ำและตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วจำนวนมากในลำห้วยคลิตี้ รวมทั้งจากข้อมูลการตรวจวัดความขุ่นของน้ำหลังม่านดักตะกอนมีค่าสูงขึ้นกว่าค่าตามธรรมชาติถึงกว่า 10 เท่า หรือ เพิ่มขึ้นเกิน 1000% ซึ่งเกินกว่าที่ข้อกำหนด TOR การขุดลอกลำห้วยคลิตี้ฯ กำหนดว่าหากการขุดลอกตะกอนทำให้ความขุ่นเพิ่มขึ้นจากค่าฐานตามธรรมชาติเกิน 10% ให้หยุดขุดลอกชั่วคราวจนกว่าความขุ่นของน้ำจะกลับมาเป็นค่าตามธรรมชาติ ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษ ควรสั่งให้ผู้รับจ้าง หยุดดำเนินการจนกว่าความขุ่นของน้ำจะกลับมาอยู่ในค่าใกล้เคียงกับค่าตามธรรมชาติ และตรวจสอบให้ผู้รับจ้างปฎิบัติตาม ข้อกำหนด TOR อย่างเคร่งครัด ถุงเก็บตะกอนริมลำห้วย และการดูดตะกอนจากลำห้วยใส่ถุง geotextile (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส)   ถุงเก็บตะกอนริมลำห้วย (ภาพ : สุรชัย ตรงงาม)   การดูดตะกอนจากลำห้วยใส่ถุง geotextile (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส) จากการดำเนินการดูดตะกอนตะกั่วดังกล่าวทำให้อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนในระยะยาว และจะทำให้การฟื้นฟูดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วได้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากมีการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วจนเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการดำเนินการฟื้นฟูที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ การละเลยไม่ปฏิบัติตามาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดการดำเนินงานโครงการฯ (TOR) การฟุ้งกระจายของตะกอนดังกล่าวเมื่อดูดตะกอนเสร็จสิ้นแล้ว ธรรมชาติอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วยาวนานกว่า 7 ปี และไม่บรรลุผลตามคำพิพากษา การชี้แจงการดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษ กรณี ข้อร้องเรียนของชาวบ้านคลิตี้ต่อโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2563 (ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ) ทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หน่วยงานรัฐออกมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกหมู่บ้านคลิตี้ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนที่ปกติต้องอาศัยอาหารจากภายนอกมาบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนสารตะกั่ว ก็ไม่สามารถเดินทางออกไปได้ จึงทำให้ต้องจับสัตว์น้ำ เก็บผักตามลำห้วย และบางครัวเรือนที่ขาดแคลนน้ำ ก็ต้องสูบน้ำขึ้นมาจากลำห้วยมาอุปโภคบริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน นอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีค่าตะกั่วในเลือดพุ่งสูงขึ้นได้ ก็ยังทำให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษาเป็นไปอย่างรอบคอบและปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ชุมชนคลิตี้ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 14 เมษายน 2563 มีความประสงค์ขอให้ศาล 1. นัดไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษาโดยวิธีดูดตะกอน ทั้งบริเวณชุมชนคลิตี้บน และบริเวณชุมชนคลิตี้ล่าง 10 จุดที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยให้กรมควบคุมมลพิษ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อห่วงกังวลต่างๆ 2. ตรวจสอบแผนงานและข้อกำหนดโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ (TOR) ก่อนเริ่มดำเนินการดูดตะกอนบริเวณลำห้วย 3. มีคำสั่งแจ้งให้กรมควบคุมมลพิษหยุดการดำเนินการฟื้นฟูโดยการดูดตะกอนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัย ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหามาตรการป้องกันผลกระทบและเยียวยาชุมชนที่เหมาะสมและเป็นธรรมตามหลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary principle) 4. สั่งให้กรมควบคุมมลพิษออกหนังสือรับรองแก่ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในตรวจสอบและเก็บข้อมูลการตรวจวัดการฟุ้งกระจาย โดยเร่งด่วนในระหว่างสถานการณ์จำกัดการเข้าพื้นที่ป้องกันไวรัส COVID -19 ด้วย หลังจากนี้สำนักบังคับคดีปกครองจะทำหนังสือสอบถามไปยังกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้ชี้แจงประเด็นในคำร้อง และรอศาลมีคำสั่งว่าจะให้มีการนัดไต่สวนคำร้องต่อไปหรือไม่อย่างไร   อ่านสรุปประเด็นการยื่นคำร้องคดีคลิตี้ต่อศาลปกครองกลาง อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม :  คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.743/2555 บทความเรื่อง “COVID-19 : บ้านคลิตี้ล่างและสายน้ำอาบยาพิษ ในสถานการณ์วิกฤติไวรัสระบาด” โดยสารคดี ที่มา: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

12 เมษายน 2563 ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ เร่งปรับแผนการแก้ไขปัญหาไฟป่า ฝุ่นควัน

ที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประชุมร่วมกับคณะทำงานศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการประชุมผ่านระบบ VDO Conference กับ 5 อำเภอที่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นมากที่สุด ประกอบด้วย อำเภออมก๋อย และอำเภอเชียงดาว อย่างละ 5 จุด รองลงมาคือ อำเภอกัลยาณิวัฒนา และอำเภอแม่แจ่มอย่างละ 2 จุด และอำเภอแม่แตง 1 จุด  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำชับให้ทุกอำเภอปฏิบัติตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในการดำเนินการตามมาตรการเชิงรุกในระดับพื้นที่ และบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้ง สั่งการให้คณะทำงานศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ปรับแผนการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาไฟป่า ฝุ่นควัน โดยให้วิเคราะห์สถานการณ์ จุดความร้อน และติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด ในแต่ละพื้นที่มีสถานการณ์เป็นอย่างไร เพื่อนำมาปรับแผนการดับไฟป่าในเชิงพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในบางอำเภอ เช่น อำเภออมก๋อย พบว่า มีบางจุดบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม และอำเภอกัลยาณิวัฒนา พบว่า เกิดไฟป่าในพื้นที่ทางการเกษตรอย่างชัดเจน ให้ทางอำเภอส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามและดำเนินคดีอย่างเร่งด่วน                  ขอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คุมเข้มทุกมาตรการอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการห้ามคนเข้าป่าอย่างเด็ดขาด เพิ่มความถี่และเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน เฝ้าระวังในพื้นป่าอย่างจริงจัง ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ ให้กับประชาชนยังคงต้องดำเนินการควบคู่การบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัด    ที่มา:  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, http://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG200412151807893

เชียงใหม่จะตายกันหมด! ไฟป่าวิกฤตหนักมาก ฮอตสปอตขึ้น 518 จุด ค่ามลพิษพุ่งปรี๊ด

ทุกภาคส่วนระดมกำลังเข้าดับไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังวิกฤตหนักอย่างเร่งด่วน หลังตรวจพบจุดความร้อนพุ่งสูงถึง 518 จุด เช้าวันนี้อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย และอำเภอสะเมิงยังหนักที่สุด โดยยังมีการใช้อากาศยาน ทั้งของกองทัพภาคที่ 3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บินโปรยน้ำดับไฟในพื้นที่เขาสูงชันอย่างต่อเนื่อง เช้าวันนี้มีรายงานการตรวจพบจุดความร้อนจากดาวเทียมเวียร์เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่มากถึง 518 จุด เกิดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมากถึง 212 จุด และป่าอนุรักษ์ 294 จุด และพื้นที่อื่นๆ 11 จุด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนภูเขา ในพื้นที่เขาลาดชันยากต่อการเข้าถึง บางจุดเป็นเหวลึก ยากต่อการที่หน่วยดับไฟภาคพื้นดินเข้าถึง โดยต้องใช้เวลานานกว่าจะควบคุมไฟไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้างได้ แต่ประกอบกับในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีลมแรงทำให้สะเก็ดไฟถูกลมพัดปลิวข้ามแนวกันไฟที่ทำเพื่อสกัดไฟไว้ ลุกลามมายังพื้นที่ข้างเคียง จึงเกิดไฟลุกลามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบางจุดเกิดการปะทุขึ้นใหม่ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะร่วมกันดับไฟไปแล้ว ทั้งนี้ พบว่าแนวเขตของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ถือว่าเป็นจุดวิกฤตหนักที่สุดเป็นเวลาเกือบ 1 สัปดาห์เต็มแล้วที่ยังเกิดไฟป่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเช้านี้ยังมีรายงานเกิดไฟป่าประทุขึ้นอีกที่ใกล้กับยอดดอยปุบ บริเวณผาดำ ซึ่งเป็นจุดที่เป็นหน้าผาสูงยากแก่การเข้าถึง ขณะเดียวกันเข้านี้พบว่าในพื้นที่ของอำเภอสะเมิงพบจุดฮอตสปอตจากไฟป่ามากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้คุณภาพอากาศของอำเภอสะเมิงแย่ที่สุด โดยวัดค่า PM2.5 ได้สูงถึง 767 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ค่ามลพิษก็ยังคงสูง และมีหมอกควันจากไฟป่าหนาทึบปกคลุมตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูล ของเว็บไซต์ CMU CCDC หรือ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Climate Change Data Center Chiang Mai University) รายงานสถานการณ์หมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงเวลา 9.00 น.ที่ผ่านมา ข้อมูลรายชั่วโมง รายงานค่าฝุ่นพิษ PM2.5 เช้านี้พบว่า ที่ข่วงประตูท่าแพกลางเมืองเชียงใหม่วัดได้ 415 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แคมปัสแม่เหียะ วัดได้ 587 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งในตัวเมืองก็มีค่ามลพิษสูงอยู่ที่ 200-500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรทุกพื้นที่ ขณะที่เวปไซด์  Air  visual พบว่าค่ามลพิษของจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลกอย่างต่อเนื่องเช้านี้วัด ค่า PM 2.5 ได้ 261.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอาาศวัดได้ 312 USAQI โดยเช้าวันนี้ที่ศูนย์สั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมเพื่อเร่งปรับแผนการดำเนินงาน ซึ่งมีทั้งตัวแทนจากกองทัพบก กองทัพอากาศ ฝ่ายปกครองจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือเรื่องการนำอากาศยานต่างๆ ขึ้นบินโปรยน้ำเพื่อดับไฟในพื้นที่สูงชัน เพื่อแบ่งพื้นที่การดำเนินงานให้การดับไฟป่าเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งในวันนี้ได้ใช้ เฮลิคอปเตอร์ MI 17, เฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวะล้อมจำนวน 3 ลำ รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แบบ 32 หรือ KA-32 มาสนับสนุนภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ทันหมดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ยังมีเฮลิคอปเตอร์ BT-67 ช่วยบินโปรยน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันเหนือเมืองเชียงใหม่ด้วย ข้อมูล: Sanook, ภาพจากทีมโดรนอาสา

หาดทรายครึ่งหนึ่งของโลกจะจมทะเลหายไป ภายในปี 2100

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเล อาจทำให้ทั่วโลกต้องสูญเสียพื้นที่หาดทรายไปถึงครึ่งหนึ่ง ภายในระยะเวลา 80 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และยิ่งทำให้ความเสียหายจากพายุและอุทกภัยทวีความรุนแรงขึ้น ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยร่วมของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC-JRC) รายงานถึงแนวโน้มดังกล่าวในวารสาร Nature Climate Change โดยเตือนว่าในอนาคตหลายประเทศจะไม่สามารถรับมือกับปัญหานี้ ทั้งจะต้องได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้น เนื่องจากสูญเสียหาดทรายที่เป็นแนวป้องกันคลื่นลมชั้นแรกไปนับหมื่นกิโลเมตร ทีมนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลสภาพหาดทรายทั่วโลกที่บันทึกย้อนหลังไปถึงเมื่อ 30 ปีก่อน แล้วนำมาคำนวณหาแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ โดยมีการนำเงื่อนไขประเด็นที่ว่า มนุษย์จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นตามเป้าหมายได้หรือไม่ มาพิจารณาร่วมด้วย ผลการทำนายแบ่งเป็นสภาพการณ์ 2 แบบ โดยในกรณีเลวร้ายที่สุดซึ่งการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศไม่ลดลง จนธรรมชาติเกิดกลไกที่ทำให้โลกร้อนได้เองโดยอัตโนมัติ หาดทรายทั่วโลกจะจมทะเลหายไป 49.5% ภายในปี 2100 คิดเป็นระยะทางถึง 132,000 กิโลเมตร ส่วนสภาพการณ์อีกแบบซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่า คาดว่ามนุษย์จะสามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 3 องศาเซลเซียสได้ แม้จะเป็นความสำเร็จที่ต่ำกว่าเป้าหมายในความตกลงปารีสก็ตาม แต่ถึงกระนั้น ระดับน้ำทะเลก็จะยังคงเพิ่มสูงขึ้น จนโลกต้องสูญเสียหาดทรายไป 95,000 กิโลเมตร ภายในปี 2100 รายงานคาดการณ์ว่าประเทศออสเตรเลียจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยอาจมีหาดทรายจมทะเลหายไปทั้งหมดเกือบ 15,000 กิโลเมตร ส่วนประเทศที่ต้องสูญเสียพื้นที่หาดทรายในอันดับรองลงมา ได้แก่แคนาดา, ชิลี, สหรัฐฯ, เม็กซิโก,จีน, รัสเซีย, อาร์เจนตินา, อินเดีย และบราซิล นอกจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อนแล้ว การก่อสร้างอาคารใหม่ ๆ บริเวณชายหาด การเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm surge) และการที่ตะกอนทรายถูกพัดพามายังพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำลดลงเพราะการสร้างเขื่อน ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้หาดทรายต้องพังทลายหายไปอีกด้วย ข้อมูล : BBC NEW 

ความเป็นมาของ EIA ในประเทศไทย และความคืบหน้าด้านกฏหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ความเป็นมาของ EIA ในประเทศไทย และความคืบหน้า ลิงค์ ::: https://drive.google.com/open… Cr.พงษ์ศักดิ์ เอื้อสุวรรณา ผอ.กลุ่มงานพัฒนาหลักเกณฑ์ (สผ.) ******************** ๑. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๒ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ รายละเอียด: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/P…/2563/E/013/T_0046.PDF ๒. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๒ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ รายละเอียด: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/P…/2563/E/013/T_0049.PDF cr.เพจ environmental Law Enforcement

logoTEST TECH

บริษัท เทสท์ เทค จำกัด (สำนักงานใหญ่)
30, 32 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 63 ถนนพระรามที่ 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทร: 02-893-4211-17, 087-928-5554
แฟกซ์: 02-893-4218
อีเมล: info@testtech.co.th
เราใช้คุกกี้ในเว็บไซต์ของเราเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเว็บไซต์ และเพื่อการให้บริการที่ดีที่สุดสําหรับคุณ โปรดอ่านนโยบายการใช้คุกกี้ เมื่อคุณเข้าใช้เว็บไซต์นี้เราถือว่าคุณยินยอมให้จัดเก็บและเข้าถึงคุกกี้บนอุปกรณ์ของคุณ
3000
4900
th